โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษา
สำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร

ทางหลวงแนวใหม่เชื่อมโยง
ถนนพุทธมณฑลสาย 4
กับทางหลวงพิเศษ
ระหว่างเมืองหมายเลข 81

ความเป็นมา

กรมทางหลวงได้จัดทำแผนพัฒนาทางหลวง โดยกำหนดตามทิศทางและแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแต่ละฉบับ โดยงานที่ดำเนินการจะครอบคลุมถึงโครงการใหม่ ซึ่งเป็นงบประมาณในการลงทุนก่อสร้างและบูรณะทางหลวงทั่วประเทศ อาทิ งานก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง งานก่อสร้างเพิ่มมาตรฐานทางหลวงให้เป็น 4 ช่องจราจรหรือมากกว่า งานบูรณะและปรับปรุงทางลาดยางเดิม งานก่อสร้างเป็นทางลาดยาง งานก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ และงานก่อสร้างทางแยกต่างระดับและสะพานลอย ตลอดจนงานอำนวยความปลอดภัย เป็นภารกิจหลักที่กรมทางหลวงมุ่งเน้นที่จะพัฒนาให้สมบูรณ์ อีกทั้งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งได้เสนอต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และมีมติเห็นชอบแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563

โครงการต่อขยายถนนพุทธมณฑลสาย 4 เชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 เป็นหนึ่งในโครงการของแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อยู่ในแผนงานปี พ.ศ.2567-2572 โดยกรมทางหลวงได้ดำเนินงานและว่าจ้างที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอ 21 คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ดีไว พลัส จำกัด บริษัท ลูเซ่ ครีเอชั่น จำกัด และบริษัท กรีน พลาเน็ท คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินการ “โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางหลวงแนวใหม่เชื่อมโยงถนนพุทธมณฑลสาย 4 กับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81” ขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มโครงข่ายการเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 

และเพิ่มความสะดวกในการเชื่อมโยงกับระบบคมนาคมขนส่งที่มีความหลากหลายในพื้นที่ที่มีทั้งระบบล้อ-ราง-เรือ เข้าด้วยกัน ได้แก่ เส้นทางเดินเรือโดยสารในคลองมหาสวัสดิ์ ณ ท่าเรือวัดสาลวัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และรถไฟสายสีแดงอ่อน ณ สถานีศาลายา รวมไปถึงโครงการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี (TOD) อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางถนนในแนวเหนือ-ใต้ด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยแนวถนนโครงการฯ จะเป็นแนวเส้นทางที่ทำให้สามารถเชื่อมโยงได้ตั้งแต่ ทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) มุ่งทิศเหนือผ่านทางหลวงหมายเลข 3091 (อ้อมน้อย-สมุทรสาคร) ทางหลวงชนบท สค.1018 (ถนนพุทธสาคร) และทางหลวงหมายเลข 3310 (ถนนพุทธมณฑลสาย 4) ตามลำดับ จากนั้นผ่านแนวถนนโครงการฯ เข้าสู่ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทางจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลสู่ภาคตะวันตก ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้โครงการมีรูปแบบการพัฒนาเพื่อเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 จึงทำให้เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม “ตามลำดับที่ 19 ระบบทางพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการทางพิเศษ หรือโครงการที่มีลักษณะเช่นเดียวกับทางพิเศษ” อย่างไรก็ตาม นอกจากให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามประกาศดังกล่าวนั้น การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ อนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่โครงการเป็นสำคัญอีกด้วย

วัตถุประสงค์ของโครงการ

1. เพื่อสำรวจและออกแบบรายละเอียดทางหลวงแนวใหม่เชื่อมโยงถนนพุทธมณฑลสาย 4 กับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 ให้ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กรมทางหลวงกำหนด ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม สอดคล้องกับสภาพสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายทางถนน รองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มโครงข่ายการเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 ให้สามารถรองรับความต้องการการเดินทางที่มากขึ้นในอนาคต

2. เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายด้านคมนาคมขนส่งที่มีความหลากหลายทั้งระบบล้อ-ราง-เรือ เข้าด้วยกัน อันส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

3. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางถนนในแนวเหนือ-ใต้ด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เชื่อมโยงตั้งแต่ทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) มุ่งทิศเหนือผ่านทางหลวงหมายเลข 3091 (อ้อมน้อย-สมุทรสาคร) ทางหลวงชนบท สค.1018 (ถนนพุทธสาคร) และทางหลวงหมายเลข 3310 (ถนนพุทธมณฑลสาย4) เข้าสู่ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 

ขอบเขตการศึกษา

งานสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานวิศวกรรมจราจร งานออกแบบรายละเอียด (Detailed Design)
     1. งานศึกษาด้านการจราจร
     2. งานสำรวจแนวทางและระดับ
     3. งานสำรวจตรวจสอบดินและวัสดุ
     4. งานศึกษาคัดเลือกแนวเส้นทางโครงการและรูปแบบการพัฒนา
     5. งานออกแบบรายละเอียดงานทาง
     6. งานออกแบบรายละเอียดงานทางแยก
     7. งานออกแบบโครงสร้างชั้นทาง วิเคราะห์เสถียรภาพและการทรุดตัวของคันทาง
     8. งานออกแบบโครงสร้างสะพาน โครงสร้างทางแยกต่างระดับ และอาคารระบายน้ำ
     9. งานระบบระบายน้ำ
   10. งานระบบด่านเก็บค่าผ่านทาง
   11. งานสถาปัตยกรรม
   12. งานดำเนินการทางด้านสิ่งสาธารณูปโภค
   13. งานคำนวณปริมาณงานก่อสร้างและประมาณราคา
   14. งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน

งานดำเนินการทางด้านสิ่งแวดล้อม

งานการมีส่วนร่วมของประชาชน 

ระยะเวลาศึกษาโครงการ

ระยะเวลาดำเนินการ  450 วัน

วันเริ่มต้นสัญญา :    18 กุมภาพันธ์ 2565

สิ้นสุดสัญญา :      13 พฤษภาคม 2566